BIM Process – After used (การใช้กระบวนการออกแบบด้วยเทคโนโลยี BIM ในอาคารขนาดเล็ก)
Location : Til.Cafe – Chiang Mai, Thailand
Year : 2021
บทความนี้เราจะมาพูดถึงผลลัพธ์บางส่วน จากการใช้กระบวนการออกแบบด้วยเทคโนโลนยี BIM ในอาคารขนาดเล็กครับ ว่าถ้ากระบวนการการออกแบบสถาปัตยกรรมของเรา ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่ง ได้ถูกผลักดันให้ก้าวเข้าสู่การใช้ BIM จะเกิดประโยชน์ตรงส่วนใดบ้าง แล้วเราควรที่จะผลักดันไปในทางทิศไหนต่อไปดี เรามาดูกันครับ!!!
” ต้องขอขอบคุณ เจ้าของโครงการ คุณพนิต และสถาปนิก คุณเจมส์ ด้วยนะครับ สำหรับประสบการณ์ดีๆในครั้งนี้ อย่างน้อยเราก็ได้ทำงานร่วมกันครับ “
Revit Small BIM
เรามาเริ่มต้นทำความเข้าใจขั้นตอน และกระบวนการทำงานทั้งหมด ของเรากันครับ
01. REQUIREMENTS
เป็นขั้นตอนของการเก็บข้อมูลสำหรับการออกแบบ ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนโดยปกติของสถาปนิก หรือขั้นตอนของการออกแบบสถาปัตยกรรม มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการของเจ้าของโครงการ ข้อมูลในทุกๆส่วนจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์สำหรับการทำงานออกแบบต่อไป
02. ARCHITECTURAL DESIGN
ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนการออกแบบของสถาปนิกครับ ในขั้นตอนนี้ Revit Small BIM ยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนช่วยในงานออกแบบ ดังนั้นจึงเป็นระบบการทำงานที่เฉพาะของสถาปนิกในแต่ละท่าน ซึ่งคุณเจมส์ ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่ และส่วนของอาคารเดิมทั้งหมด รวมถึงการสาดส่องของแสง ทิศทางลม ที่จะทำให้เกิดสภาวะความสบายในอาคาร ความเป็นไปได้ในส่วนของโครงสร้างอาคาร กฎหมาย ฯลฯ ตามหลักวิชาชีพ (มีการจำลองอาคาร และออกแบบด้วยระบบ CAD)
03. CONSTRUCTION DRAWING : GO TO BIM
ในขั้นตอนนี้เองครับ ที่ทาง Revit Small BIM ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมใน Process ของการออกแบบอาคารหลังนี้ สถาปนิกเริ่มติดต่อเรา เพื่อดำเนินการเขียนแบบก่อสร้าง ซึ่งโดยปกติทางเราใช้ Autodesk Revit หรือ เทคโนโลยี BIM เพื่อเคลียปัญหาด้วยโมเดลสามมิติมาโดยตลอด เราจึงทำการนำ Autodesk Revit เข้าไปจับกับงานออกแบบของสถาปนิกเลย เพื่อพัฒนาแบบตามความต้องการของเจ้าของโครงการ และสถาปนิก เพื่อให้เห็นภาพรวมตรงกัน และเคลียปัญหาที่คาดว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
โดยเราเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในอาคารเดิมของลูกค้าก่อน ตรงส่วนไหนบ้างที่จะต้องทำการรื้อถอน และงานออกแบบใหม่ของสถาปนิกเป็นอย่างไร
หลังจากนั้น เราจึงทำการดำเนินการ ตามกระบวนการทำงานของเราครับ โดยเริ่มจากการจำลองโมเดลสามมิติของอาคารเดิมขึ้นมาก่อน โดยการเก็บข้อมูลหน้าไซต์งานเพิ่มเติม เพื่อขึ้นโมเดลอาคารเดิม (Existing Building Model) ทำการจำลองออกมา โดยพยายามทำให้ Error ที่เกิดจากการวัดระยะหน้างาน น้อยที่สุด
หลังจากนั้น เราก็ทำการกำหนดส่วนรื้อถอน ให้ส่วนต่างๆของอาคารครับ โดยอ้างอิงงานออกแบบของสถาปนิก (Demolition Building Model) จะสังเกตุได้จากส่วนอาคารสีแดงในรูปภาพ
เมื่อกำหนดส่วนรื้อถอนเสร็จเรียบร้อย เราก็จะทำการจำลองงานออกแบบใหม่ของสถาปนิก เข้าไปอีกครั้ง (New Construction Building Model) โดยทั้งหมด เป็นข้อดีของ Autodesk Revit ที่สามารถจัดการโมเดลในส่วนของ Phase ของงานก่อสร้างได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ การแก้ไขแบบในขั้นตอนนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายมากๆเลยหล่ะครับ
เมื่อเราเขียนแบบ เคลียโมเดลสามมิติทั้งหมดเสร็จสิ้น ก็จะเป็นการสิ้นสุด ขั้นตอนของการเคลียแบบ เขียนแบบก่อสร้างเรียบร้อยแล้วครับ โดยแบบที่เราจัดทำขึ้นมา เน้นการแก้ไขปัญหา ขณะปัจจุบัน ให้เห็นภาพรวมตรงกันมากที่สุด ก่อนที่จะส่งแบบต่อให้ผู้รับเหมา
04. Construction
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการส่งแบบรายละเอียดทั้งหมดให้ผู้รับเหมา ดำเนินการเสนอราคา และก่อสร้างอาคารจริงขึ้นมา โดยการเสนอราคา แบบที่ได้จากการทำ BIM ช่วยให้ถอดปริมาณได้ตรงตามความเป็นจริงมากๆ แทบพูดได้ว่า
“ถ้าหากผู้รับเหมาใช้ BIM ในการคำนวณ ถอดปริมาณค่าวัสดุ แทบควบคุมงบประมาณในการก่อสร้าง ได้อย่างแม่นยำเลยครับ”
– Revit Small BIM
แบบตัวอย่างนี้ มีการนำเสนอด้วยภาพ สามมิติ สามารถดูโมเดลเพื่อลุยหน้างานได้เลย และสามารถถอดแบบ ออกมาเป็นแบบสองมิติได้ด้วย ช่วยให้เป็นภาพมากยิ่งขึ้นก่อนการก่อสร้าง
เมื่อก่อสร้างออกมา ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าตรงตามแบบที่สถาปนิกออกแบบไว้หรือไม่
แบบตัวอย่าง งานปรับพื้น มีการเจาะพื้นเป็นรูปวงกลม ตามรัศมี มีการลดระดับต่างๆ อย่างเหมาะสม
แบบตัวอย่างงานออกแบบผนังกระจกด้านหน้าอาคาร มีการแนบแบบสามมิติ ในทุกๆแผ่น พร้อมดีเทลแบบสองมิติ
Conclusion (บทสรุป)
การใช้เทคโนโลนี BIM ในปัจจุบัน และอนาคต เกิดประโยชน์แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการ สถาปนิก ผู้ออกแบบ ดราฟแมน ผู้รับเหมา ทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์โดยตรง หากเจ้าของโครงการ รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี BIM จะทำให้เกิดการดึงเอาศักยภาพ ของเทคโนโลยี BIM ออกมาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ในมุมมองของสถาปนิก แน่นอนว่า การแก้ไขแบบกับเจ้าของโครงการ เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ในบางครั้ง อาจจะเป็นเรื่องยากไปในที่สุด แต่เทคโนโลยี BIM จะช่วยได้เยอะมากๆ ในมุมมองของผู้รับเหมา แน่นอนครับว่า ถ้าเราเป็นผู้รับเหมาเสียเองแล้ว เราก็อยากจะทุ่มศึกษาหาความรู้ เพื่อให้ได้ใช้ BIM แน่นอน มองเห็นปัญหาก่อนการก่อสร้าง ถอดปริมาณวัสดุ คำนวณต้นทุนได้อย่างรัดกุม ได้กำไรจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
” ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องราวเล็กๆ ที่เราอยากจะแนะนำทุกๆ ท่าน ให้เข้าใจถึงความสามารถของ เทคโนโลยี BIM ครับ “